รศ.พญ.นิรมล พัจนสุนทร กล่าวว่า “จากความมุ่งมั่นของมูลนิธิตะวันฉายฯ และทีมสหวิทยาการ ที่ต้องการดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ที่สมบูรณ์แบบ การจัดโครงการนี้จะช่วยเสริมศักยภาพการดูแลรักษาที่อยู่ในโรงพยาบาล โดยเพิ่มด้านการเข้าสังคม การศึกษา การดำรงชีวิต และการเสริมสร้างพลังอำนาจให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่สมบูรณ์แบบครบถ้วน โดยได้จัดการประชุมวิชาการมาครั้งแรกเมื่อพ.ศ.2556 และได้จัดเรื่อยมาถึงปีนี้เป็นครั้งที่ 6 จัดในระหว่างวันที่ 28-29 มิถุนายน 2561 โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น การอบรมในครั้งนี้ ได้แบ่งกลุ่มผู้เข้าร่วมประชุมวิชาการออกเป็นสองกลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ และกลุ่มที่ 2กลุ่มผู้ป่วย ครู และผู้ดูแล เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การดูแลรักษา การส่งต่อตามช่วงอายุผู้ป่วยและครอบครัว สำหรับครูผู้ดูแลจะได้แลกเปลี่ยนรเรียนรู้ทักษะการพัฒนาด้านการอ่าน และสภาวะอารมณ์ของเด็ก ในวันที่สองของการอบรม จะแบ่งกลุ่มเข้าฐานการฝึกทักษะ อาทิ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การให้คำปรึกษาครอบครัว การเตรียมตัวเข้ารับการรักษาฝ่าตัด การจัดการประสานงาน สันทนาการ ความพึงพอใจในตนเอง การสื่อสาร และความเจริญงอกงามส่วนบุคคล”
รศ.ดร.เบญจมาศ พระธานี กล่าวว่า “โครงการประชุมวิชาการครั้งนี้ มุ่งเน้นให้ความรู้ด้านการดูแล รักษา และผ่าตัด ประเมินพัฒนาการ และส่งเสริมศักยภาพกลุ่มเป้าหมายสองกลุ่ม คือ บุคลากรทางการแพทย์สังกัดโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลเอกชนในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นและเครือข่าย อีกกลุ่มเป็นผู้ป่วยภาวะปากแหว่ง เพดานโหว่ฯ ช่วงอายุ 2-24 ปี จากทุกโรงเรียนในพื้นที่จ.ขอนแก่น ผู้ปกครอง และครูประจำชั้น ครูแนะแนว หรือครูที่มีส่วนร่วมในการสอนผู้ป่วยเพื่อพัฒนาการบริการการดูแล รักษา และผ่าตัดผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ และพิการทางศีรษะและใบหน้าในจังหวัดขอนแก่น ตามแนวทางการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยชุมชน (Community-Base Rehabilitation : CBR) ขององค์กรอนามัยโลก (World Health Orgarnization : WHO) ครอบคลุม สุขภาพ การศึกษา การดำรงชีวิต สังคม และการเสริมสร้างพลังอำนาจและตามหลักแนวคิดของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและสร้างความยั่งยืนต่อไป การที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น ให้งบประมาณสนับสนุนต่อเนื่องมา และจะมีการสนับสนุนต่อไปโดยตั้งงบประมาณ 4 ปี ในพ.ศ.2561-2564 เนื่องจากโครงการนี้เกิดผลลัพธ์สอดคล้องกับยุทธศาสตร์จังหวัดในการพัฒนาคุณภาพคนและสังคมที่มีคุณภาพ เสริมสร้างสุขภาวะ การพัฒนาคุณภาพคนและสังคม และแผนงานสาธารณสุข ครอบคุลมไปถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และสร้างความมั่นคงทางสังคม เสริมสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง คนในชุมชนมีความผาสุข ตรงตามวิสัยทัศน์ “ขอนแก่นเมืองน่าอยู่”
Poster : admin | 5 กรกฎาคม 61 08:39:35